รายละเอียดการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ

เพื่อให้การขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการเป็นไปอย่างถูกต้อง ชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม เป็นไปตามข้อกำหนดทั่วไปสำหรับห้องปฏิบัติการและมาตรฐานระดับสากลที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพของห้องปฏิบัติการ ที่ขึ้นทะเบียนให้มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

infograpic git standard

คุณสมบัติผู้ที่จะขึ้นทะเบียนห้องปฎิบัติการ

คุณสมบัติทั่วไป

  1. ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน จะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ รวมทั้งหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ได้ประกาศใช้บังคับแล้ว หรือที่จะประกาศใช้บังคับในภายหน้า
  2. ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ต้องให้ความร่วมมือ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประเมินในการตรวจประเมิน และการตรวจติดตามผล และยินยอมให้ผู้ประเมินจากหน่วยรับรองระบบงานร่วมสังเกตการณ์การตรวจประเมินเมื่อมีการร้องขอ รวมทั้งการเข้าถึงเอกสารหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการของผู้ยื่นคำขอหรือผู้ได้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้ประเมิน
  3. ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่สถาบัน เมื่อได้รับการร้องขอโดยเร็ว
  4. ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ต้องชำระค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตรวจประเมินการขึ้นทะเบียน และการตรวจติดตามผล ตามอัตราและภายในระยะเวลาที่สถาบันกำหนด ทั้งนี้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขอ ขึ้นทะเบียนตามที่เกิดขึ้นจริง ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ชำระแล้วไม่สามารถเรียกคืนได้
  5. การดำเนินการเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน เช่น การยื่นคำขอ การติดต่อประสานงาน การตรวจประเมินจะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก

คุณสมบัติสำหรับผู้ยื่นคำขอ

  1. ต้องเป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการตรวจ วิเคราะห์ ทดสอบ รับรอง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง โดยต้องไม่เป็นผู้ถูกพักใช้ และ/หรือเพิกถอนจากทะเบียนของสถาบัน (พิจารณาเป็นรายกรณี) และผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลของผู้ยื่นคำขอ ไม่ว่าคนหนึ่งคนใดหรือทั้งหมด ต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลที่ถูกพักใช้ และ/หรือเพิกถอน จากทะเบียนของสถาบัน
  2. มีเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายเป็นของตนเอง หรืออยู่ระหว่างการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และในกรณีที่ให้บริการรับรองต้องมีเครื่องหมายรับรองที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายเป็นของตนเอง หรืออยู่ระหว่างยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง
  3. ยอมรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดทั่วไปในการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ และข้อกำหนดเฉพาะในการ ขึ้นทะเบียนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
  4. ใช้แบบคำขอขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการตามที่สถาบันกำหนด โดยระบุข้อมูลและรายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้
    1. ที่อยู่ หรือที่ตั้งของห้องปฏิบัติการ (กรณีเป็นที่ตั้งถาวร) ที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียน และ
    2. รายชื่อบุคลากรสำคัญที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจ ประเมิน ทวนสอบผลทางวิชาการ และ
    3. รายการเครื่องมือหลักที่มี และ
    4. ขอบข่ายกิจกรรมที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียน ได้แก่
      • รายการความสามารถที่ให้บริการ (tested, inspected, certified parameter) หรือ
      • รายการมาตรฐาน (standard)/วิธีทดสอบ (test method) ที่ใช้ และจัดเตรียมหลักฐานประกอบตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอให้ครบถ้วน
  5. ต้องจัดทำเอกสารประกอบ ยื่นพร้อมกับแบบคำขอขึ้นทะเบียนเป็นภาษาไทย ดังนี้
    1. คู่มือคุณภาพ รวมถึงนโยบายการบริหารคุณภาพของห้องปฏิบัติการ
    2. ขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคุณภาพของห้องปฏิบัติการ
    3. วิธีปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจ ประเมิน รวมถึงคู่มือการใช้งานเครื่องมือทางเทคนิค (ถ้ามี)
  6. สถาบัน ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณายกเลิกคำขอการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ หากผู้ยื่นคำขอไม่ให้ ความร่วมมือในการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้

เงื่อนไขสำหรับผู้ได้รับการขึ้นทะเบียน

  1. ต้องรักษาระบบการบริหารคุณภาพ และความสามารถของห้องปฏิบัติการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการนี้ และข้อแนะนำที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
  2. ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการนี้ และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้เครื่องหมาย ก-สวอ. - 02 รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนของสถาบัน ทั้งที่ได้ประกาศใช้บังคับแล้ว หรือที่จะประกาศใช้บังคับในภายหน้า
  3. นำผลการขึ้นทะเบียน ใบรับรองการขึ้นทะเบียนเครื่องหมาย และชื่อสถาบันไปใช้อ้างอิงได้เฉพาะขอบข่าย ที่อยู่ภายใต้ขอบข่ายที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยจะไม่นำไปใช้กับขอบข่ายอื่น รวมถึงไม่นำไปใช้ในทางที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่บุคคลอื่นเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน และไม่นำไปใช้ในทางที่อาจทำให้เกิดความเสียหาย หรือความเสื่อมเสียต่อการขึ้นทะเบียนของสถาบัน อนุญาตให้ทำสำเนาใบรับรองการขึ้นทะเบียนได้โดยให้สำเนาฉบับเต็มเท่านั้น
  4. ต้องยุติการใช้ผลการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ ใบรับรองการขึ้นทะเบียนเครื่องหมาย และชื่อสถาบัน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการขึ้นทะเบียน หรือในทันทีที่มีการพักใช้ หรือยกเลิก หรือเพิกถอนการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม
  5. ต้องจัดเตรียมเอกสารหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการร้องเรียนกิจกรรมภายใต้ขอบข่ายที่ได้รับการ ขึ้นทะเบียน รวมทั้งกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องของผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ให้ตรวจสอบ โดยจะต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานและข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ประเมินเมื่อมีการร้องขอ ภายในกำหนดเวลาที่แจ้ง
  6. ต้องปฏิบัติตามความเหมาะสมต่อข้อร้องเรียนและข้อบกพร่องใดๆที่พบ ซึ่งมีผลกระทบต่อความเป็นไป ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน
  7. ต้องจัดทำเอกสารการปฏิบัติต่อข้อร้องเรียนและข้อบกพร่องใดๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
  8. ต้องแจ้งให้สถาบันทราบทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับรายละเอียดของระบบการบริหารคุณภาพ และความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอื่นที่สำคัญ ภายใต้ขอบข่ายที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

เงื่อนไขการใช้เครื่องหมาย

ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อ 7.1 และ 7.1.1 (R-GIT-02) หากมีการนำเครื่องหมายไปใช้ในกิจกรรมอื่น หรือวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่อนุญาตไว้ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขนี้ ต้องทำหนังสือขออนุญาตผ่านคณะกรรมการงานบริหารการขึ้นทะเบียน และได้รับการอนุมัติจากผู้อำนวยการสถาบัน เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตที่แจ้ง และหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การใช้เครื่องหมายนี้โดยอนุโลม และต้องระงับการใช้งานตามที่ได้รับอนุญาตทันทีที่ได้รับการแจ้งยกเลิกการอนุญาต ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ